Thursday, June 23, 2016

การเตรียมน้ำเพื่อเลี้ยงปลาดุก

การเตรียมน้ำเพื่อเลี้ยงปลาดุก
สำหรับน้ำที่จะนำมาใส่บ่อเพื่อเลี้ยงปลาสามารถใช้น้ำจากบ่อบาดาล น้ำบ่อ น้ำในแหล่งน้ำลำคลองได้ทันที หรือถ้าใช้น้ำประปา ควรพักน้ำไว้ในบ่อพลาสติกอย่างน้อย 3 -5 วัน เพื่อให้ฤทธิ์คลอรีนระเหยหมดไปก่อนนำปลามาปล่อยลงเลี้ยง ก่อนปล่อยลูกปลาลงเลี้ยงมีข้อควรคำนึง ดังนี้
- ลูกปลาดุกบิ๊กอุยที่จะนำมาเลี้ยงควรมีขนาด 1.5 นิ้ว ขึ้นไป
- ในช่วงฤดูหนาวไม่ควรนำปลาดุกบิ๊กอุยมาเลี้ยงเพราะปลาจะมีความต้านทานต่อโรคต่ำปลามักจะเป็นโรคตายได้ง่าย
- ปล่อยลูกปลาในอัตรา 50 – 70 ตัวต่อตารางเมตร บ่อขนาด 6 ตารางเมตรปล่อยลูกปลาจำนวน 300 – 400 ตัว
การปล่อยลูกปลาลงเลี้ยงจะต้องปรับสภาพอุณหภูมิของน้ำในถุงลูกปลา และน้ำในบ่อเลี้ยงให้เท่าๆกันก่อน โดยการแช่ถุงบรรจุลูกปลาในน้ำประมาณ 30 นาที  จึงค่อยปล่อยลูกปลาลงบ่อ และเวลาที่เหมาะในการปล่อยลุกปลาควรเป็นตอนเย็น หรือ ตอนเช้า
การปล่อยปลาลงเลี้ยงในช่วงแรกปลายังมีขนาดเล็กอยู่ ให้เติมน้ำลงบ่อให้ระดับน้ำสูงประมาณ 10 เซนติเมตร แล้วค่อยๆเพิ่มระดับน้ำขึ้นเรื่อยๆทุกๆสัปดาห์ ประมาณ 5 เซนติเมตรต่อสัปดาห์ จนมีระดับน้ำสูงสุด 30 -50 เซนติเมตร
ปลาดุกไม่ชอบการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิอย่างกะทันหัน เช่น ฝนตก ปลาก็อาจตายได้ ควรสร้างหลังคาบังแดด บังฝน บนบ่อปลาประมาณครึ่งหนึ่งของบ่อปลาอย่าปิดหมด คอยหมั่นสังเกตตัวปลา ว่ามีอาการผิดปกติหรือไม่ เช่น ลอยหัว เป็นแผลข้างลำตัว เพื่อจะได้แก้ไขได้โดยเร็ว


ในวันที่ปล่อยลูกปลาไม่จำเป็นต้องให้อาหาร ควรเริ่มให้อาหารในวันรุ่งขึ้น โดยให้อาหารเม็ดประมาณ 3 – 7 % ของน้ำหนักตัวปลา เริ่มแรกให้อาหารเม็ดเล็ก หากปลาขนาดเล็กมากให้บุบอาหารพอแตก แล้วให้ปลากิน อาหารสดพวก เศษเนื้อทุกชนิดสับให้ปลากินได้ ตัวปลวก และแมลงต่างๆ นำไปโปรยให้ปลากินได้เลย  ควรให้อาหาร 2 มื้อ เช้าและเย็น และควรให้เป็นเวลา หากให้อาหารปลาโดยพร่ำเพรื่อจะทำให้เสียเงินค่าอาหารปลาโดยเปล่าประโยชน์ อาหารที่เหลือจะทำให้น้ำในบ่อเน่าเสียเร็วขึ้น
การถ่ายเทน้ำ เมื่อน้ำเริ่มเสีย และสังเกตดูว่าน้ำเริ่มมีกลิ่นเหม็น จึงเปลี่ยนถ่ายน้ำ โดยปกติจะต้องเปลี่ยนถ่ายน้ำ สัปดาห์ละครั้งขึ้นอยู่กับการให้อาหารด้วย  การเปลี่ยนถ่ายน้ำไม่ควรถ่ายน้ำเก่าออกทั้งหมดควรเหลือน้ำเก่าไว้ 2 ใน 3 เพื่อให้ปลามีความคุ้นเคยกับน้ำเก่าอยู่บ้าง และอย่าทำให้ปลาตกใจปลาจะไม่กินอาหาร  การถ่ายน้ำควรทำหลังจากให้อาหารไปแล้วไม่น้อยกว่า 3 ชั่วโมง มิฉะนั้นปลาจะคายอาหารออกหมด และหลังเปลี่ยนน้ำใหม่ ๆ ไม่ควรให้อาหารทันที น้ำที่ถ่ายออกจากบ่อปลาสามารถนำไปรดพืชผักสวนครัวหรือต้นพืชได้ ซึ่งน้ำที่ถ่ายออกจากบ่อปลานี้จะมีธาตุอาหารสำหรับพืชสูงด้วย

พื้นที่รอบๆบริเวณบ่อเลี้ยงปลา สามารถใช้ประโยชน์ในการปลูก พืชผักสวนครัว เช่น พริก มะเขือ ตะไคร้ กะเพรา มะละกอ บวบ ฯลฯ เพื่อเป็นอาหารได้ นอกจากนี้ การปลูกพืชรอบ ๆ บริเวณบ่อยังให้ความร่มรื่น บริเวณบ่อเลี้ยงปลาด้วย

ปลาดุกที่เลี้ยงในบ่อพลาสติก นาน 3 -4 เดือนจะได้ปลาโตขนาดตัวละประมาณ 100 – 200 กรัม ถ้าอัตรารอดประมาณ 80 – 90 % จะได้ผลผลิตปลาประมาณ 30 – 50 กิโลกรัม ต่อบ่อ ถ้าปลาดุกกิโลกรัมละ 40 บาท จะมีรายได้ประมาณ 1,200 – 2,000 บาท ต่อรุ่น เกษตรกรเลี้ยงปลา 1 รุ่น ก็จะคุ้มทุนค่าลงทุนสร้างบ่อ ซึ่งบ่อจะมีอายุการใช้งาน 3-5 ปี ดังนั้น เกษตรกรสามารถใช้บ่อในการเลี้ยงปลาต่อไปได้อีกหลายรุ่น

พลาสติกมีหลายชนิด พลาสติก PVC จะมีอายุการใช้งานนาน 3 – 5 ปี ขึ้นอยู่กับการดูแลรักษา พลาสติกทั่วไป หรือ พลาสติก PE จะมีอายุใช้งานไม่เกิน 6 -12 เดือน ดังนั้น จึงควรเลือกใช้พลาสติก PVC เท่านั้น เมื่อบ่อมีรอยรั่วหรือฉีกขาดเป็นรู ทำการซ่อมแซมรอยรั่วของพลาสติก PVC ได้โดยใช้เศษเนื้อพลาสติกด้านขอบๆบ่อติดกาวปะจุดที่ขาด โดยใช้กาวติด PVC หรือกาวปะยางจักรยาน

No comments:

Post a Comment