ลักษณะของปลาดุกอุย มีสีของผิวหนังค่อนข้างเหลืองถึงเหลืองอมเทา มีจุดประตามตัวและบริเวณด้านข้างของลำตัวอย่างเด่นชัด เนื้อสีออกเหลือง มีมันมาก ลำตัวค่อนข้างทู่ ส่วนปลายของกระดูกท้ายทอยจะป้านและสั้น ในปลาดุกด้านสีของลำตัวค่อนข้างคล้ำเล็กน้อย เนื้อมีสีขาวมีมันน้อย ส่วนหัวค่อนข้างแหลมและส่วนปลายของกระดูกท้ายทอยแหลมเป็นรูปสามเหลี่ยม ในปลาดุกยักษ์สีของลำตัวสีเทา สีเทาอมเหลืองมีลายคล้ายหินอ่อนอยู่ทั่วตัว ส่วนหัวใหญ่และแบนกะโหลกจะเป็นตุ่มๆไม่เรียบและส่วนปลายของกระดูกท้ายทอยแหลมเป็นรูปหยักแหลมมี 3 หยัก ส่วนลักษณะของบิ๊กอุยนั้น ตัวโตเต็มวัยมีสีสันคล้ายปลาดุกอุยมาก แต่จะสังเกตได้จากกะโหลกศรีษะ ซึ่งค่อนข้างขรุขระและหยักแหลม ปลาดุกอุย ปลาดุกด้านและปลาดุกยักษ์มีลักษณะแตกต่างที่สังเกตุง่ายๆ ดังภาพที่ 1 ถึง 3
ภาพที่ 1 เปรียบเทียบลักษณะหัวปลาดุก ส่วนปลายของกระดูกท้ายทอยปลาดุกอุยมีลักษณะโค้งมน (ซ้าย) ส่วนในปลาดุกด้านกระดูกท้ายแหลม (ขวา) (ประพันธ์, 2543)
ภาพที่ 2 เปรียบเทียบลักษณะปลาดุก, ก. แสดงความแตกต่างของลักษณะกระดูกท้ายทอยของปลาดุก 3 ชนิด (จากซ้ายไปขวา ปลาดุกด้าน ปลาดุกยักษ์ และปลาดุกอุย)
ข. แสดงลักษณะของปลาดุกอุย (บน) ปลาดุกบิ๊กอุย (กลาง) และปลาดุกยักษ์ (ล่าง)
(อุทัยรัตน์, 2544)
ปลาดุกบิ๊กอุย นั้นเกิดจากความสำเร็จในการผสมเทียมข้ามพันธุ์ระหว่างปลาดุกอุยเพศเมียและปลาดุกยักษ์เพศผู้ เพราะการผสมพันธุ์ระหว่างปลาดุกบิ๊กอุยเพศผู้และเพศเมียนั้นไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร จะได้จำนวนลูกน้อยมาก ดังนั้นผู้เพาะเลี้ยงจะไม่นิยมนำบิ๊กอุยมาผสมกันเอง จึงต้องมีการผสมข้ามพันธุ์ระหว่างปลาดุกอุยเพศเมียและปลาดุกยักษ์เพศผู้เพื่อให้ได้บิ๊กอุยมาเพาะเลี้ยงเสมอ การเพาะปลาดุกมี 2 วิธี คือการผสมเทียมและการผสมแบบธรรมชาติ ซึ่งส่วนใหญ่จะได้มาจากการผสมเทียม โดยใช้ฮอร์โมนเป็นตัวกระตุ้นหรือเร่งให้แม่ปลาตกไข่ เพราะจะทำให้ได้ จำนวนลูกมากกว่าปล่อยให้ผสมแบบธรรมชาติ
ภาพที่ 3 ความแตกต่างของเพศปลาดุก (ประพันธ์, 2543)
No comments:
Post a Comment