Thursday, June 23, 2016

โรคของปลาดุก

โรคของปลาดุก มักเกิดจากปัญหาคุณภาพน้ำในบ่อเลี้ยงไม่ดี ซึ่งอาจเกิดจากการให้อาหารมากเกินไปจนอาหารเหลือเน่าเสีย เพราะปลาดุกมีนิสัยกินอาหารที่ให้ใหม่แล้วสำรอกอาหารเก่าทิ้ง ควรมีการเปลี่ยนถ่ายน้ำจากระดับก้นบ่ออย่างสม่ำเสมอในปริมาณ 20 -30 % ของน้ำในบ่อแล้วนำน้ำที่พักไว้เติมลงไปให้ได้ระดับเดิม
เมื่อปลาเป็นโรคแล้วจะรักษาให้หายได้ยากและสิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย  ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุดจึงควรป้องกันไม่ให้เกิดโรค โดยวิธีต่างๆดังนี้
1. ควรเตรียมบ่อและน้ำตามวิธีที่เหมาะสมก่อนการปล่อยลูกปลา
2. ซื้อพันธุ์ปลาจากแหล่งที่เชื่อถือได้ ลูกปลาแข็งแรงปราศจากโรค
3. ไม่ควรปล่อยลูกปลาลงเลี้ยงหนาแน่นเกินไป
4. ควรหมั่นตรวจอาการของปลาอย่างสม่ำเสมอ ถ้าเห็นผิดปกติต้องรีบหาสาเหตุและแก้ไขโดยเร็ว
5. เปลี่ยนถ่ายน้ำจากระดับก้นบ่ออย่างสม่ำเสมอ โดยเปลี่ยนถ่ายน้ำเก่าออกปริมาณ 20 – 30 % ของน้ำในบ่อ และนำน้ำที่พักไว้เติมลงไปให้ได้ระดับเดิม
6. อย่าให้อาหารจนเหลือ ให้ปริมาณพอดีในแต่ละมื้อ และระวังอย่าให้อาหารตกค้างในบ่อ


โรคของปลาดุกที่เลี้ยง

ในกรณีที่มีการป้องกันอย่างดีแล้ว แต่ปลาก็ยังป่วยเป็นโรค ซึ่งมักจะแสดงออกให้เห็น โดยแบ่งอาการของโรคเป็นกลุ่มใหญ่ๆ ดังนี้
1. การติดเชื้อจากแบคทีเรีย จะมีการตกเลือด มีแผลตามลำตัวและครีบ ครีบกร่อน ตาขุ่น หนวดหงิก กกหูบวม ท้องบวมมีน้ำในช่องท้อง กินอาหารน้อยหรือไม่กินอาหาร ลอยตัว
2. อาการจากปรสิตเข้าเกาะตัวปลา จะมีเมือกมาก มีแผลตามลำตัว ตกเลือด ครีบเปื่อย มีจุดสีขาวตามลำตัว สีตามลำตัวซีดหรือเข้มผิดปกติ เหงือกซีด ว่ายน้ำทุรนทุราย  ควงสว่านหรือไม่ตรงทิศทาง
3. อาการจากอาหารมีคุณภาพไม่เหมาะสม ที่พบบ่อยมักจะขาดวิตามินบี จะทำให้กะโหลกร้าว บริเวณใต้คางจะมีการตกเลือด ตัวคด กินอาหารน้อยลง ถ้าขาดวิตามินบี ปลาจะว่ายน้ำตัวเกร็งและชักกระตุก
4. อาการจากคุณภาพน้ำในบ่อไม่ดี ปลาจะว่ายน้ำขึ้นลงเร็วกว่าปกติ ลอย หัว ครีบกร่อนเปื่อย หนวดหงิก เหงือกซีดและบวม ลำตัวซีด ไม่กินอาหาร ท้องบวมมีแผลตามตัว
อนึ่ง ในการรักษาโรคปลาควรจะได้พิจารณาให้รอบคอบก่อนการตัดสินใจเลือกใช้ยาหรือสารเคมี สาเหตุของโรค ระยะรักษา ค่าใช้จ่ายในการรักษา



การเตรียมน้ำเพื่อเลี้ยงปลาดุก

การเตรียมน้ำเพื่อเลี้ยงปลาดุก
สำหรับน้ำที่จะนำมาใส่บ่อเพื่อเลี้ยงปลาสามารถใช้น้ำจากบ่อบาดาล น้ำบ่อ น้ำในแหล่งน้ำลำคลองได้ทันที หรือถ้าใช้น้ำประปา ควรพักน้ำไว้ในบ่อพลาสติกอย่างน้อย 3 -5 วัน เพื่อให้ฤทธิ์คลอรีนระเหยหมดไปก่อนนำปลามาปล่อยลงเลี้ยง ก่อนปล่อยลูกปลาลงเลี้ยงมีข้อควรคำนึง ดังนี้
- ลูกปลาดุกบิ๊กอุยที่จะนำมาเลี้ยงควรมีขนาด 1.5 นิ้ว ขึ้นไป
- ในช่วงฤดูหนาวไม่ควรนำปลาดุกบิ๊กอุยมาเลี้ยงเพราะปลาจะมีความต้านทานต่อโรคต่ำปลามักจะเป็นโรคตายได้ง่าย
- ปล่อยลูกปลาในอัตรา 50 – 70 ตัวต่อตารางเมตร บ่อขนาด 6 ตารางเมตรปล่อยลูกปลาจำนวน 300 – 400 ตัว
การปล่อยลูกปลาลงเลี้ยงจะต้องปรับสภาพอุณหภูมิของน้ำในถุงลูกปลา และน้ำในบ่อเลี้ยงให้เท่าๆกันก่อน โดยการแช่ถุงบรรจุลูกปลาในน้ำประมาณ 30 นาที  จึงค่อยปล่อยลูกปลาลงบ่อ และเวลาที่เหมาะในการปล่อยลุกปลาควรเป็นตอนเย็น หรือ ตอนเช้า
การปล่อยปลาลงเลี้ยงในช่วงแรกปลายังมีขนาดเล็กอยู่ ให้เติมน้ำลงบ่อให้ระดับน้ำสูงประมาณ 10 เซนติเมตร แล้วค่อยๆเพิ่มระดับน้ำขึ้นเรื่อยๆทุกๆสัปดาห์ ประมาณ 5 เซนติเมตรต่อสัปดาห์ จนมีระดับน้ำสูงสุด 30 -50 เซนติเมตร
ปลาดุกไม่ชอบการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิอย่างกะทันหัน เช่น ฝนตก ปลาก็อาจตายได้ ควรสร้างหลังคาบังแดด บังฝน บนบ่อปลาประมาณครึ่งหนึ่งของบ่อปลาอย่าปิดหมด คอยหมั่นสังเกตตัวปลา ว่ามีอาการผิดปกติหรือไม่ เช่น ลอยหัว เป็นแผลข้างลำตัว เพื่อจะได้แก้ไขได้โดยเร็ว


ในวันที่ปล่อยลูกปลาไม่จำเป็นต้องให้อาหาร ควรเริ่มให้อาหารในวันรุ่งขึ้น โดยให้อาหารเม็ดประมาณ 3 – 7 % ของน้ำหนักตัวปลา เริ่มแรกให้อาหารเม็ดเล็ก หากปลาขนาดเล็กมากให้บุบอาหารพอแตก แล้วให้ปลากิน อาหารสดพวก เศษเนื้อทุกชนิดสับให้ปลากินได้ ตัวปลวก และแมลงต่างๆ นำไปโปรยให้ปลากินได้เลย  ควรให้อาหาร 2 มื้อ เช้าและเย็น และควรให้เป็นเวลา หากให้อาหารปลาโดยพร่ำเพรื่อจะทำให้เสียเงินค่าอาหารปลาโดยเปล่าประโยชน์ อาหารที่เหลือจะทำให้น้ำในบ่อเน่าเสียเร็วขึ้น
การถ่ายเทน้ำ เมื่อน้ำเริ่มเสีย และสังเกตดูว่าน้ำเริ่มมีกลิ่นเหม็น จึงเปลี่ยนถ่ายน้ำ โดยปกติจะต้องเปลี่ยนถ่ายน้ำ สัปดาห์ละครั้งขึ้นอยู่กับการให้อาหารด้วย  การเปลี่ยนถ่ายน้ำไม่ควรถ่ายน้ำเก่าออกทั้งหมดควรเหลือน้ำเก่าไว้ 2 ใน 3 เพื่อให้ปลามีความคุ้นเคยกับน้ำเก่าอยู่บ้าง และอย่าทำให้ปลาตกใจปลาจะไม่กินอาหาร  การถ่ายน้ำควรทำหลังจากให้อาหารไปแล้วไม่น้อยกว่า 3 ชั่วโมง มิฉะนั้นปลาจะคายอาหารออกหมด และหลังเปลี่ยนน้ำใหม่ ๆ ไม่ควรให้อาหารทันที น้ำที่ถ่ายออกจากบ่อปลาสามารถนำไปรดพืชผักสวนครัวหรือต้นพืชได้ ซึ่งน้ำที่ถ่ายออกจากบ่อปลานี้จะมีธาตุอาหารสำหรับพืชสูงด้วย

พื้นที่รอบๆบริเวณบ่อเลี้ยงปลา สามารถใช้ประโยชน์ในการปลูก พืชผักสวนครัว เช่น พริก มะเขือ ตะไคร้ กะเพรา มะละกอ บวบ ฯลฯ เพื่อเป็นอาหารได้ นอกจากนี้ การปลูกพืชรอบ ๆ บริเวณบ่อยังให้ความร่มรื่น บริเวณบ่อเลี้ยงปลาด้วย

ปลาดุกที่เลี้ยงในบ่อพลาสติก นาน 3 -4 เดือนจะได้ปลาโตขนาดตัวละประมาณ 100 – 200 กรัม ถ้าอัตรารอดประมาณ 80 – 90 % จะได้ผลผลิตปลาประมาณ 30 – 50 กิโลกรัม ต่อบ่อ ถ้าปลาดุกกิโลกรัมละ 40 บาท จะมีรายได้ประมาณ 1,200 – 2,000 บาท ต่อรุ่น เกษตรกรเลี้ยงปลา 1 รุ่น ก็จะคุ้มทุนค่าลงทุนสร้างบ่อ ซึ่งบ่อจะมีอายุการใช้งาน 3-5 ปี ดังนั้น เกษตรกรสามารถใช้บ่อในการเลี้ยงปลาต่อไปได้อีกหลายรุ่น

พลาสติกมีหลายชนิด พลาสติก PVC จะมีอายุการใช้งานนาน 3 – 5 ปี ขึ้นอยู่กับการดูแลรักษา พลาสติกทั่วไป หรือ พลาสติก PE จะมีอายุใช้งานไม่เกิน 6 -12 เดือน ดังนั้น จึงควรเลือกใช้พลาสติก PVC เท่านั้น เมื่อบ่อมีรอยรั่วหรือฉีกขาดเป็นรู ทำการซ่อมแซมรอยรั่วของพลาสติก PVC ได้โดยใช้เศษเนื้อพลาสติกด้านขอบๆบ่อติดกาวปะจุดที่ขาด โดยใช้กาวติด PVC หรือกาวปะยางจักรยาน

การเลี้ยงปลาดุกในบ่อ

1. การเลี้ยงปลาดุกในบ่อซีเมนต์
การเลี้ยงปลาดุกในบ่อซีเมนต์ควรปรับสภาพของน้ำในบ่อที่เลี้ยงปลาดุกให้มีสภาพเป็นกลางหรือเป็นด่างเล็กน้อย แต่ต้องแน่ใจว่าบ่อซีเมนต์จะต้องหมดฤทธิ์ของปูน ระดับน้ำในบ่อเมื่อเริ่มปล่อยลูกปลาขนาด 2-3 ซม. ควรมีความลึกประมาณ 20 -30 เซนติเมตร เมื่อลูกปลาเติบโตขึ้นจึงค่อยๆ เพิ่มระดับน้ำให้สูงขึ้นตามลำดับ โดยเพิ่มระดับน้ำประมาณ 5 ซม./อาทิตย์ ให้อาหารเม็ดประมาณ 3 -7 เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักตัวปลา โดยปล่อยปลาในอัตรา 50-70 ตัว/ตารางเมตร ปลาจะเติบโตได้ขนาดประมาณ 100 -200 กรัม/ตัว ในระยะเวลาเลี้ยงประมาณ 90 วัน อัตราการรอดประมาณ 80% อาหารที่ใช้เลี้ยงสามารถให้อาหารชนิดต่างๆ ทดแทนอาหารเม็ดได้ โดยใช้อาหารพวกไส้ไก่ หรือปลาเป็ดผสมกับเศษอาหารก็ได้ แต่จำเป็นต้องถ่ายเทน้ำเพื่อป้องกันน้ำเสีย เพราะน้ำจะเสียง่ายกว่าเลี้ยงด้วยอาหารเม็ด


2. การเลี้ยงปลาดุกในบ่อดิน
การเลี้ยงปลาดุกในบ่อดินจำเป็นต้องมีการเตรียมบ่อที่ดี มิฉะนั้นอาจเกิดปัญหาก้นบ่อเน่าทำให้น้ำในบ่อเสียและทำให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพปลาในที่สุด บ่อปลาดุกที่เลี้ยงมาหลายๆ ปี โดยไม่มีการดูแลบ่อจะพบปัญหาปลาเป็นโรคบ่อยๆ ยากต่อการแก้ไข การเตรียมบ่อใหม่และบ่อเก่าที่เคยเลี้ยงปลามาก่อน มีขั้นตอนการเตรียมแตกต่างกันเล็กน้อยดังนี้
บ่อขุดใหม่
ปกติแล้วดินจะมีสภาพเป็นกรดอย่างอ่อนๆ หรืออาจจะมีสภาพเป็นกรดสูง ขึ้นอยู่กับลักษณะท้องที่  ให้โรยปูนขาวตาม พี-เอช (อย่างน้อย 30 – 50 กก. ต่อบ่อ 800 ตารางเมตร) โดยสาดปูนขาวให้ทั่วบ่อจากนั้นสูบน้ำเข้าบ่อจนได้ระดับน้ำ 30 เซนติเมตร ทิ้งไว้ประมาณ 7-10 วัน แล้วจึงวัดพี-เอช ค่าที่เหมาะสมควรอยู่ระหว่าง 7 – 8.5 แล้วจึงปล่อยปลาลงเลี้ยง
บ่อเก่า
เมื่อเลี้ยงปลาดุกผ่านไปรุ่นหนึ่งแล้ว ควรตากบ่อให้แห้งประมาณ 10 -15 วัน พร้อมทั้งโรยปูนขาวให้ทั่วบ่อ ในอัตราส่วนปูนขาว 1 กก. ต่อพื้นที่ 10 ตารางเมตร เพื่อให้แสงแดดทำลายเชื้อโรคต่างๆ และให้จุลินทรีย์เน่าสลายทำให้อินทรีย์สารที่ตกค้างอยู่พื้นบ่อหมดไปด้วย เมื่อเลี้ยงปลาดุกได้ประมาณ 3-4 รุ่น ควรลอกเลนและทำคันบ่อใหม่ เนื่องจากบ่ออาจตื้นเขิน และขอบคันอาจะเป็นรูเป็นโพรงมากทำให้บ่ออาจเก็บกักน้ำไม่อยู่ และไม่สะดวกในการจับปลาอีกด้วย  ควรเก็บปลาเก่าออกให้หมด และกำจัดวัชพืชที่พื้นบ่อและรอบขอบบ่อ โดยห้ามใช้ยาฆ่าหญ้าฉีดเด็ดขาด เพราะจะทำให้มีสารเคมีตกค้างในดินจะทำให้เป็นอันตรายได้ หลังจากนั้นก็ตากบ่อให้แห้ง และลงปูนขาวให้ทั่วบ่อ อัตรา 50 กก. ต่อบ่อขนาด 1 ไร่ จากนั้นให้ลงมูลสัตว์ เช่นขี้ไก่หรือ ขี้นกกระทาให้ทั่วบ่อ ในปริมาณ 4-5 ถุงต่อไร่ (ขนาดถุงอาหารปลา) ก่อนสูบน้ำเข้าประมาณ 1-2 วัน หลังจากนั้นก็สูบน้ำเข้าประมาณ 60-70 ซม.
การเลี้ยงในบ่อดินนั้นจะมีหลักการเตรียมบ่อเลี้ยงปลาทั่วๆ ไปดังนี้
1. จะต้องตากพื้นบ่อให้แห้ง ปรับสภาพพื้นบ่อให้สะอาด
2. ใส่ปูนขาวเพื่อปรับสภาพของดิน โดยใส่ในอัตราประมาณ 60-100 กก./ไร่
3. ใส่ปุ๋ยคอกเพื่อให้เกิดอาหารธรรมชาติสำหรับลูกปลาในอัตราประมาณ
 40-80 กก./ไร่
4. สูบน้ำเข้าบ่อโดยกรองไม่ให้ศัตรูของลูกปลาติดเข้ามากับน้ำจนมีระดับน้ำลึก 30-40 ซม. หลังจากนั้น วันรุ่งขึ้นจึงปล่อยปลาลงบ่อเลี้ยง จะต้องปรับสภาพอุณหภูมิของน้ำในถุงและน้ำในบ่อให้เท่าๆ กันก่อน โดยการแช่ถุงบรรจุลูกปลาในน้ำประมาณ 30 นาทีจึงปล่อยลูกปลา  เวลาที่เหมาะสมในการปล่อยลูกปลาควรเป็นตอนเย็นหรือตอนเช้า และเพื่อให้ลูกปลามีอาหารกินควรเติมไรแดงในอัตราประมาณ 5 กิโลกรัม เพื่อเป็นอาหารลูกปลา หลังจากนั้นก็ให้ลูกปลากินอาหารผสมต่อไป อีกทั้งผู้เลี้ยงควรคอยตรวจสุขภาพลูกปลาอย่างสม่ำเสมอด้วย
ขั้นตอนการเลี้ยง
1. อัตราปล่อยปลาดุก ลูกปลาขนาด 2-3 ซม. ควรปล่อยในอัตราประมาณ 40 - 100 ตัว/ตรม. ซึ่งขึ้นอยู่กับกรรมวิธีในการเลี้ยง คือ ชนิดของอาหาร ขนาดของบ่อและระบบการเปลี่ยนถ่ายน้ำซึ่งปกติทั่วๆไป อัตราปล่อยเลี้ยงประมาณ 50 ตัว/ตรม. และเพื่อป้องกันโรคซึ่งอาจจะติดมากับลูกปลา ใช้น้ำยาฟอร์มาลินใส่ในบ่อเลี้ยง อัตราความเข้มข้นประมาณ 30 ส่วนในล้าน (3 ลิตร/น้ำ 100 ตัน) ในวันที่ปล่อยลูกปลาไม่จำเป็นต้องให้อาหารควรเริ่มให้อาหารในวันรุ่งขึ้น
2. การให้อาหาร เมื่อปล่อยลูกปลาดุกลงในบ่อดินแล้ว อาหารที่ให้ในช่วงที่ลูกปลาดุกมีขนาดเล็ก (2-3 ซม.) ควรให้อาหารผสมคลุกน้ำปั้นเป็นก้อนให้ลูกปลากิน โดยให้กินวันละ 2 ครั้ง หว่านให้กินทั่วบ่อโดยเฉพาะในบริเวณขอบบ่อ เมื่อลูกปลามีขนาดโตขึ้นความยาวประมาณ 5-7 ซม. สามารถฝึกให้กินอาหารเม็ดได้ หลังจากนั้นเมื่อปลาโตขึ้นจนมีความยาว 15 ซม.ขึ้นไป จะให้อาหารเม็ดเพียงอย่างเดียวหรืออาหารเสริมชนิดต่าง ๆ ได้ เช่น ปลาเป็ดผสมรำละเอียดอัตรา 9 : 1 หรือให้อาหารที่ลดต้นทุน เช่น อาหารผสมบดจากส่วนผสมต่างๆเช่น กระดูกไก่ ไส้ไก่ เศษขนมปัง เศษเส้นหมี่ เศษเลือดหมู เลือดไก่ เศษเกี้ยว หรือเศษอาหารต่างๆเท่าที่สามารถหาได้ นำมาบดรวมกันแล้วผสมให้ปลากิน แต่การให้อาหารประเภทนี้จะต้องระวังเรื่องคุณภาพของน้ำในบ่อเลี้ยงให้ดี เมื่อเลี้ยงปลาได้ประมาณ 3-4 เดือน ปลาจะมีขนาดประมาณ 200-400 กรัม/ตัว ซึ่งผลผลิตที่ได้จะประมาณ 10 - 14 ตัน/ไร่ อัตรารอดตายประมาณ 40- 70 %
3. การถ่ายเทน้ำ เมื่อตอนเริ่มเลี้ยงใหม่ๆ ระดับความลึกของน้ำในบ่อควรมีค่าประมาณ 30 - 40 ซม. เมื่อลูกปลาเจริญเติบโตขึ้นในเดือนแรกจึงเพิ่มระดับน้ำสูงเป็นประมาณ 50 - 60 ซม. หลังจากย่างเข้าเดือนที่สองควรเพิ่มระดับน้ำให้สูงขึ้น 10 ชม./อาทิตย์ จนระดับน้ำในบ่อมีความลึก 1.20 - 1.50 เมตร การถ่ายเทน้ำควรเริ่มตั้งแต่การเลี้ยงผ่านไปประมาณ 1 เดือน โดยถ่ายน้ำประมาณ 20 % ของน้ำในบ่อ 3 วัน/ครั้ง หรือถ้าน้ำในบ่อเริ่มเสียจะต้องถ่ายน้ำมากกว่าปกติ
4. การป้องกันโรค การเกิดโรคของปลาดุกที่เลี้ยงมักจะเกิดจากปัญหาคุณภาพของน้ำในบ่อเลี้ยงไม่ดี ซึ่งอาจเกิดจากสาเหตุของการให้อาหารมากเกินไปจนอาหารเหลือเน่าเสีย เราสามารถป้องกันไม่ให้เกิดโรคได้โดยต้องหมั่นสังเกตว่าเมื่อปลาหยุดกินอาหารจะต้องหยุดให้อาหารทันที เพราะปลาดุกมีนิสัยชอบกินอาหารที่ให้ใหม่โดยถึงแม้จะกินอิ่มแล้วถ้าให้อาหารใหม่อีกก็จะคายหรือสำรอกอาหารเก่าทิ้งแล้วกินอาหารให้ใหม่อีกซึ่งปริมาณอาหาร ที่ให้ไม่ควรเกิน 4 - 5 % ของน้ำหนักตัวปลา ในรอบหนึ่งปีช่วงที่ต้องระมัดระวังปลาที่เลี้ยงเป็นพิเศษก็คือ ช่วงหน้าหนาว ปลาจะเป็นโรคมากที่สุดซึ่งเกิดจากการสะสมของเสียที่พื้นบ่อมากเกินไป ผู้เลี้ยงจะสามารถลดความเสี่ยงจากโรคได้ก็ต้องควบคุมคุณภาพน้ำให้ดี ต้องไม่ให้น้ำสีเข้มเกินไป หากน้ำเข้มมากก็แก้ไขโดยใส่ปูนขาวลงไปก็จะช่วยลดปัญหานี้ได้

3. การเลี้ยงปลาดุกในกระชัง
  การเลี้ยงปลาดุกในกระชังเป็นการใช้แหล่งน้ำให้เป็นประโยชน์ในการเพิ่มอาหารโปรตีนอีกทางหนึ่ง สามารถเลี้ยงเป็นงานอดิเรกหรือเลี้ยงเป็นอาชีพประจำครอบครัว เพราะจะช่วยเก็บเศษอาหารที่เหลือให้เกิดประโยชน์ และถ้าเลี้ยงในกระชังขนาดใหญ่หลายๆ กระชังแล้วจะสามารถทำรายได้ให้กับผู้เลี้ยงได้มาก และสามารถยึดเป็นอาชีพได้ ข้อควรคำนึงในการเลี้ยงปลาดุกในกระชัง มีดังนี้
    1.   คุณภาพของน้ำต้องดี
2. เป็นแหล่งที่มีกระแสน้ำไหลผ่านสะดวก
3. การคมนาคมสะดวก
4. ในบริเวณที่ใช้เลี้ยงปลาในกระชังควรปราศจากศัตรูธรรมชาติและโจรผู้ร้าย
5. ฤดูกาลที่เหมาะสม
6. ขนาดของกระชังพอเหมาะประมาณ กว้าง 1½ เมตร ยาว 2 เมตร ลึก 1.3 เมตร

4. การเลี้ยงปลาดุกในบ่อพลาสติก (บ่อตื้น)
  เกษตรกรรายย่อยที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลและขาดแคลนน้ำ หรือในเขตพื้นที่สูง ฐานะยากจนมักประสบปัญหาขาดแคลนอาหารโปรตีน ดังนั้นการเลี้ยงปลาดุกบิ๊กอุยในบ่อพลาสติก เป็นทางเลือกหนึ่งที่จะส่งเสริมและพัฒนาครอบครัวที่ยากจนไม่ให้ขาดแคลนอาหารโปรตีน ในปัจจุบันปลาดุกบิ๊กอุยเป็นที่นิยมเลี้ยงของเกษตรกรเนื่องจากเลี้ยงง่าย เจริญเติบโตเร็ว อีกทั้งยังทนทานต่อโรคและสภาพแวดล้อม เป็นที่นิยมบริโภคของประชาชนเนื่องจากรสชาติดี และราคาไม่แพง การเลี้ยงปลาดุก สามารถเลี้ยงได้ทั้งในบ่อดิน บ่อซีเมนต์ และบ่อพลาสติก ถ้ามีพื้นที่จำกัด การเลี้ยงในบ่อพลาสติกก็เป็นทางออกที่ดี และประหยัด โดยที่ในบ่อพลาสติกจะมีอายุการใช้งานประมาณ 3-5 ปี
วัตถุประสงค์ ของการเลี้ยงปลาดุกในบ่อพลาสติกก็เพื่อ
1. เป็นการส่งเสริมให้ประชาชนลดรายจ่ายในครัวเรือน โดยการเลี้ยงปลา เพื่อเป็นอาหารบริโภคเอง
2. เป็นการส่งเสริมและสนับสนุนแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง
3. เป็นการพัฒนาอาชีพการลี้ยงปลาแบบพอเพียงไปสู่ระบบการเลี้ยงปลาเชิงพาณิชย์
4. ให้มีอาหารโปรตีนจากปลาบริโภคในครัวเรือนและในชุมชน
ข้อดีของการเลี้ยงปลาดุกในบ่อพลาสติก มีดังนี้
1. ใช้พื้นที่เลี้ยงน้อย และสามารถเลี้ยงได้ทุกพื้นที่
2. การก่อสร้างบ่อเลี้ยงง่าย สะดวกและรวดเร็ว
3. ใช้ระยะเวลาในการเลี้ยงสั้น แต่ละรุ่นใช้เวลาเลี้ยงเพียง 90 – 120 วัน
4. ปลาดุกเป็นปลาที่อดทนต่อสภาพน้ำได้ดี
 5. ปลาดุกสามารถเลี้ยงและดูแลรักษาได้สะดวก นอกจากจับมาบริโภคในครัวเรือนแล้ว ส่วนที่เหลือก็นำไปขายเป็นรายได้เสริมให้กับครอบครัว

การเลือกสถานที่สร้างบ่อ ควรจะพิจารณาถึงปัจจัยต่างๆดังนี้
1. บ่อควรอยู่ใกล้บ้าน หรือที่ที่สามารถดูแลได้สะดวก
2. ควรอยู่ในที่ร่ม หรือมีหลังคาเพราะปลาดุกเป็นปลาที่ไม่ชอบแสงแดดจัด และหลังคาจะช่วยป้องกันเศษใบไม้ร่วงลงสู่บ่อปลา
3. มีแหล่งน้ำสำหรับการเปลี่ยนถ่ายน้ำได้สะดวกพอสมควร

การสร้างบ่อ ทำได้ 2 วิธีตามความเหมาะสมของสภาพพื้นที่
วิธีที่ 1 เตรียมบ่อเลี้ยงขนาด กว้าง 1.5 เมตร ยาว 4 เมตร ขุดดินออกเพื่อทำบ่อ ลึกประมาณ 50 เซนติเมตร
วิธีที่ 2 ทำการยกคันบ่อขึ้นสูงจากพื้นดินประมาณ 50 -60 เซนติเมตร แทนการขุดลงไปในดิน  โดยอาจจะก่อคันบ่อด้วยกระสอบทราย
หลังจากขุดดินออกตามวิธีที่ 1 ทำการปรับแต่งพื้นก้นบ่อให้เรียบสม่ำเสมอกัน โดยใช้ทรายปูรองพื้น เพื่อป้องกันการรั่วซึม และทำการปรับแต่งดินบริเวณข้างบ่อและขอบบ่อให้เรียบ โดยให้มีความลาดชันของขอบบ่อ 1 : 2 หลังจากปรับพื้นที่ก้นบ่อและขอบบ่อเสร็จเรียบร้อยแล้ว นำพลาสติก PVC ขนาดกว้าง 3.5 เมตร ยาว 6 เมตร หนา 0.25 มิลลิเมตร ปูพื้นบ่อที่ขุดเตรียมไว้ เวลาปูพลาสติกต้องระมัดระวังอย่าให้พลาสติกขาดหรือมีรอยรั่ว เมื่อปูพลาสติกเสร็จเรียบร้อยแล้วจะเหลือพื้นที่บ่อเลี้ยงขนาดกว้างประมาณ 1.5 เมตร ยาว 4 เมตร ลึก 50 เมตร เป็นพื้นที่ประมาณ 6 ตารางเมตร

ลักษณะและนิสัยของปลาดุก

ปลาดุกมีรูปร่างเรียวยาว ไม่มีเกล็ด มีอวัยวะช่วยหายใจลักษณะคล้ายพุ่มไม้สีขาวอยู่ภายในส่วนหัวเรียกว่า ดอนไดรท์ ซึ่งช่วยให้ปลาดุกมีความอดทนสามารถอยู่ในที่ไม่มีน้ำหรือมีน้ำน้อยๆ ได้นาน ตามีขนาดเล็กมาก มีหนวด 4 คู่อยู่ที่ริมฝีปาก ซึ่งสามารถรับความรู้สึกได้ดี ใช้หนวดมากกว่าใช้ตาในการหาอาหารตามพื้นดิน  ครีบหลังยาวไม่มีกระโดง  ครีบอกก้านแรก มีลักษณะยื่นแหลม และอาจจะมีหรือไม่มีลักษณะเป็นฟันเลื่อยก็ได้ ส่วนนี้ช่วยพยุงร่างกายให้เกาะอยู่ในสภาพต่างๆ ได้ดี ปลาดุกสามารถสร้างเสียงด้วยการเคลื่อนไหวของครีบ ทำให้เกิดการกระทบกันของข้อต่อหรือการเคลื่อนไหวของถุงลม ปลาดุกชอบหากินตามหน้าดิน มีนิสัยว่องไว สามารถจะขึ้นมาอยู่บนบกได้นานกว่าปลาชนิดอื่นๆ รวมถึงสามารถที่จะอาศัยอยู่ในดิน โคลน เลน และในน้ำที่มีปริมาณออกซิเจนต่ำได้นาน เนื่องจากมีอวัยวะพิเศษช่วยในการหายใจนั่นเอง อาหารที่ปลาดุกชอบกิน ส่วนมากเป็นอาหารจำพวกเนื้อสัตว์ แต่ถ้านำมาเลี้ยงในบ่อก็สามารถฝึกให้กินอาหารจำพวกพืชได้ รวมถึงสามารถฝึกนิสัยให้ปลาดุกขึ้นมากินอาหารบริเวณผิวน้ำแทนการหาอาหารกินตามหน้าดินได้


ลักษณะของปลาดุกอุย มีสีของผิวหนังค่อนข้างเหลืองถึงเหลืองอมเทา มีจุดประตามตัวและบริเวณด้านข้างของลำตัวอย่างเด่นชัด เนื้อสีออกเหลือง มีมันมาก ลำตัวค่อนข้างทู่ ส่วนปลายของกระดูกท้ายทอยจะป้านและสั้น ในปลาดุกด้านสีของลำตัวค่อนข้างคล้ำเล็กน้อย เนื้อมีสีขาวมีมันน้อย ส่วนหัวค่อนข้างแหลมและส่วนปลายของกระดูกท้ายทอยแหลมเป็นรูปสามเหลี่ยม ในปลาดุกยักษ์สีของลำตัวสีเทา สีเทาอมเหลืองมีลายคล้ายหินอ่อนอยู่ทั่วตัว ส่วนหัวใหญ่และแบนกะโหลกจะเป็นตุ่มๆไม่เรียบและส่วนปลายของกระดูกท้ายทอยแหลมเป็นรูปหยักแหลมมี 3 หยัก ส่วนลักษณะของบิ๊กอุยนั้น ตัวโตเต็มวัยมีสีสันคล้ายปลาดุกอุยมาก แต่จะสังเกตได้จากกะโหลกศรีษะ ซึ่งค่อนข้างขรุขระและหยักแหลม ปลาดุกอุย ปลาดุกด้านและปลาดุกยักษ์มีลักษณะแตกต่างที่สังเกตุง่ายๆ ดังภาพที่ 1 ถึง 3


ภาพที่ 1  เปรียบเทียบลักษณะหัวปลาดุก ส่วนปลายของกระดูกท้ายทอยปลาดุกอุยมีลักษณะโค้งมน (ซ้าย) ส่วนในปลาดุกด้านกระดูกท้ายแหลม (ขวา) (ประพันธ์, 2543)


ภาพที่ 2  เปรียบเทียบลักษณะปลาดุก, ก. แสดงความแตกต่างของลักษณะกระดูกท้ายทอยของปลาดุก 3 ชนิด (จากซ้ายไปขวา ปลาดุกด้าน ปลาดุกยักษ์ และปลาดุกอุย)
ข. แสดงลักษณะของปลาดุกอุย (บน) ปลาดุกบิ๊กอุย (กลาง) และปลาดุกยักษ์ (ล่าง)
(อุทัยรัตน์, 2544)

  ปลาดุกบิ๊กอุย นั้นเกิดจากความสำเร็จในการผสมเทียมข้ามพันธุ์ระหว่างปลาดุกอุยเพศเมียและปลาดุกยักษ์เพศผู้ เพราะการผสมพันธุ์ระหว่างปลาดุกบิ๊กอุยเพศผู้และเพศเมียนั้นไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร จะได้จำนวนลูกน้อยมาก ดังนั้นผู้เพาะเลี้ยงจะไม่นิยมนำบิ๊กอุยมาผสมกันเอง จึงต้องมีการผสมข้ามพันธุ์ระหว่างปลาดุกอุยเพศเมียและปลาดุกยักษ์เพศผู้เพื่อให้ได้บิ๊กอุยมาเพาะเลี้ยงเสมอ การเพาะปลาดุกมี 2 วิธี คือการผสมเทียมและการผสมแบบธรรมชาติ ซึ่งส่วนใหญ่จะได้มาจากการผสมเทียม โดยใช้ฮอร์โมนเป็นตัวกระตุ้นหรือเร่งให้แม่ปลาตกไข่ เพราะจะทำให้ได้ จำนวนลูกมากกว่าปล่อยให้ผสมแบบธรรมชาติ


              ภาพที่ 3 ความแตกต่างของเพศปลาดุก (ประพันธ์, 2543)

ปลาดุก

ปลาดุกเป็นปลาที่อาศัยอยู่ในแหล่งน้ำจืด น้ำที่ค่อนข้างกร่อย หรือแม้แต่ในหนองน้ำที่มีน้ำเพียงเล็กน้อย เพราะว่าปลาดุกเป็นปลาที่มีอวัยวะพิเศษช่วยในการหายใจเช่นเดียวกับปลาช่อนจึงสามารถดำรงชีวิตอยู่ในน้ำที่มีออกซิเจนเพียงเล็กน้อย ได้เป็นอย่างดี อีกทั้งเป็นปลาน้ำจืดที่คนไทยนิยมรับประทาน
ปลาดุกจะพบได้ทั่วไปในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ประเทศอินเดีย พม่า ไทย ลาว กัมพูชา ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และมาเลเซีย สำหรับประเทศไทยพบปลาดุกในคลอง หนอง บึง ต่างๆ ทั่วทุกภาค เป็นปลาที่อาศัยอยู่ในแหล่งน้ำจืดทั่วไป ปลาดุกที่พบในประเทศไทยมีอยู่ด้วยกันทั้งหมด 5 ชนิดด้วยกัน แต่ที่เป็นที่รู้จักมีเพียง 2 ชนิด คือปลาดุกอุย และปลาดุกด้าน

ปลาดุกที่นิยมเลี้ยงคือ ปลาดุกด้าน เพราะเนื้อปลาดุกด้านค่อนข้างแข็ง ทำให้สามารถขนส่งได้ในระยะทางไกลๆ ประกอบกับปลาดุกด้านเลี้ยงง่าย โตเร็ว จึงเป็นที่นิยมเลี้ยงกันมาก
ปลาดุกสำหรับบริโภค จะนิยมปลาดุกอุย เพราะให้รสชาติดี เนื้อปลานุ่ม ฟู กลิ่นดี

ประมาณปลายปี พ.ศ. 2530 เกษตรกรได้นำพันธุ์ปลาดุกชนิดหนึ่งจากประเทศลาวเข้ามาเลี้ยงในประเทศไทย ซึ่งกรมประมงได้ให้ชื่อว่าปลาดุกเทศ (ปลาดุกยักษ์ หรือ ปลาดุกรัสเซีย) มีถิ่นกำเนิดในทวีปแอฟริกา เป็นปลาที่มีการเจริญเติบใตรวดเร็วมาก สามารถกินอาหารได้แทบทุกชนิด มีความต้านทานโรคและสภาพแวดล้อมสูงเป็นปลาที่มีขนาดใหญ่ เมื่อเจริญเติบโตเต็มที่ แต่ปลาดุกชนิดนี้มีเนื้อเหลว และมีสีซีดขาว ไม่น่ารับประทาน ต่อมานักวิชาการไทยได้ประสบความสำเร็จในการผสมเทียมข้ามพันธุ์ระหว่างปลาดุกอุยเพศเมีย และปลาดุกยักษ์เพศผู้ ได้ปลาลูกผสมเรียกว่า ดุกอุยเทศ หรือ บิ๊กอุย ซึ่งผลที่ได้นั้นบิ๊กอุยเป็นที่นิยมเลี้ยงของเกษตรกร เนื่องจากเลี้ยงง่าย มีอัตราการเจริญเติบโตที่รวดเร็ว อีกทั้งทนทานต่อโรคและสภาพแวดล้อมได้ดีกว่าปลาดุกชนิดอื่น ทั้งยังเป็นที่นิยมบริโภคของประชาชน เนื่องจากมีรสชาติดีและราคาถูก ทำให้ปัจจุบันปลาดุกบิ๊กอุยได้รับการนิยมและเข้ามาแทนที่ตลาดปลาดุกด้านไปโดยปริยาย